0

งิ้วกับเทศกาล 应节戏 ("อิ้งเจี๋ยซี่")


2019-12-11 15:08:58
#ตรุษจีน #งิ้ว

เนื่องจากยังอยู่ในบรรยากาศเทศกาลตรุษจีน ในจีนเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศจึงขอนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมเนียมของคณะงิ้วเสียหน่อย เราทราบกันดีว่าประเทศจีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ความยาวนานของช่วงเวลาหลายพันปี ก่อให้เกิดเทศกาลสำคัญต่างๆ ขึ้นมากมาย และสิ่งที่สร้างความบันเทิงให้แก่ชาวจีนสมัยก่อนก็คืองิ้ว จึงเกิดเป็นธรรมเนียมการดูงิ้วรับเทศกาลขึ้น

 งิ้วรับเทศกาล เรียกว่า 应节戏 "อิ้งเจี๋ยซี่" งิ้วเหล่านี้จะถูกคัดสรรเรื่องโดยดูจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลนั้นๆ ออกทำการแสดง เช่น เทศกาลแห่เรือมังกร (ไหว้บ่ะจ่าง) ก็จะเล่นเรื่องนางพญางูขาว เพราะมีฉากที่นางพญางูขาวดื่มเหล้าจนคืนร่างในวันเทศกาลดังกล่าว เทศกาลสารทจีนกลางเดือนเจ็ด ก็จะเล่นงิ้วเกี่ยวกับผี วันไหว้พระจันทร์ ก็จะเล่นเรื่อง ฉางเอ๋อเหินขึ้นจันทร์ เพราะมีพระจันทร์มาเกี่ยวข้อง เทศกาลไหว้ขนมอี๋ (จีนในไทยเรียกตังโจ่ย) ก็สามารถเล่นงิ้วสามก๊ก ฉากขงเบ้งเรียกลม ได้เช่นกัน ฯลฯ



ภาพ: งิ้วที่มีเนื้อหามงคล มีนัยให้กิจการยั่งยืน
 

เมื่อเทศกาลในหนึ่งปีเวียนมาใกล้จะครบ ก็จะก้าวเข้าสู่ช่วงตรุษจีนซึ่งถือเป็นปีใหม่ของจีน โดยแท้จริงแล้วก่อนวันตรุษจีนหนึ่งสัปดาห์จะมีการไหว้ส่งเทพเตาขึ้นสวรรค์ ตามตำนานเทพเตาเมื่อเป็นมนุษย์ แต่งงานมีเมียแต่ไม่ทำมาหากิน วันๆ กินเที่ยวจนเมียขอหย่า สุดท้ายกลายเป็นขอทาน วันหนึ่งขอทานมาถึงหน้าบ้านเมียเก่า ก็รู้สึกอับอายจึงเอาหัวมุดเตาไฟเผาตัวเองตาย สวรรค์เห็นว่าสำนึกได้ก่อนตาย จึงแต่งตั้งขึ้นเป็นเทพเตาประจำครอบครัว



ภาพ: เจ้าเตา
 

วันส่งเทพเตา ชาวบ้านจะนำภาพเทพเตามาติดเหนือพร้อมเครื่องเซ่นไหว้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือน้ำผึ้งหรือก้อนน้ำตาลที่ถูกนำมาลนไฟจนละลายแล้วนำไปป้ายที่ปากของเทพเตา เพราะชาวจีนเชื่อว่าในวันนี้เทพเตาจะนำเรื่องในบ้านไปรายงานแก่สวรรค์ หากบ้านไหนทำความดีปีหน้าก็จะได้รับพรตลอดปี ชาวบ้านจึงหวังว่าน้ำผึ้งหรือน้ำตาลจะทำให้เทพเตาปากหวาน พูดแต่สิ่งดีๆ ให้กับครอบครัวตน และในวันนี้ชาวบ้านก็จะเริ่มเตรียมซื้อข้าวของเครื่องใช้เพื่อใช้ในเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนทางเหนือจึงเรียกวันนี้ว่า 小年 "เสี่ยวเหนียน" หรือปีใหม่เล็ก ก่อนที่อีกสัปดาห์จะถึง 大年 "ต้าเหนียน" หรือปีใหม่ใหญ่ซึ่งก็คือตรุษจีน



ภาพ: พิธีผนึกหีบเสื้อผ้าและอุปกรณ์ สังเกตกระดาษเหลืองที่บรรดาอาวุธ


ตามธรรมเนียมเดิมของคณะงิ้วสมัยก่อน แต่ละคณะส่วนมากจะมีคิวงิ้วตลอดปี แต่เมื่อถึงวันปีใหม่เล็ก ก็จะมีการแสดงงิ้วส่งท้ายปี เรียกว่า "ต้าซี่" หรืองิ้วใหญ่ คืองิ้วที่จัดขึ้นพิเศษ รวมดารานักแสดงและจัดอย่างยิ่งใหญ่ ในบางที่นิยมทำการแสดงที่เรียกว่า 反串 "ฝ่านช่วน" คือการให้นักแสดงเล่นบทที่ตัวเองไม่เคยแสดง เช่น ตัวนางเล่นบทตลก ตัวหน้าลายเล่นบทนาง ตัวพระเล่นบทหน้าลาย ตัวตลกเล่นบทพระ ฯลฯ แล้วแต่คณะ เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม แม้จะเป็นการเล่นสลับบท แต่นักแสดงก็จะแสดงอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ออกมาเลียนแบบท่าทางให้ดูตลกผ่านๆ ไป



ภาพ: งิ้วมงคลอวยพรผู้ชมให้เจริญก้าวหน้า
 

หลังจากวันปีใหม่เล็กหนึ่งวัน คณะงิ้วจะทำการหยุดการแสดงจน และในวันนี้ก็จะจัดพิธีการหนึ่งขึ้นเรียกว่า 封箱 "เฟิงเซียง" คือการปิดผนึกหีบเสื้อผ้าและอุปกรณ์ในการแสดงงิ้ว โดยการนำแถบกระดาษสีเหลืองมาคาดทับเป็นกากบาทเป็นสัญลักษณ์ว่าถูกปิดอยู่ ในสมัยก่อนงิ้วจะต้องเร่แสดงตามสถานที่ต่างๆ สิ่งที่ใช้บรรจุเสื้อผ้าและอุปกรณ์การแสดงก็คือหีบไม้เหล่านี้ ย้ายไปไหนก็ยกไปด้วย การปิดผนึกหีบจึงเป็นพิธีการเพื่อแสดงให้เห็นว่า คณะงิ้วจะปิดการแสดงเพื่อให้นักแสดงพักผ่อนหลังจากที่เหนื่อยล้ากันมาตลอดหนึ่งปีเต็ม



ภาพ: เทพแห่งเงินทองอวยพรให้มั่งมี
 

คณะงิ้วจะเปิดทำการแสดงอีกครั้งในวันที่เปลี่ยนนักษัตรใหม่ ซึ่งเป็นวันตรุษจีนดั้งเดิม เรียกว่า "ลี่ชุน" หรือลิบชุง 立春 เทศกาลเริ่มฤดูใบไม้ผลิ โดยจะอยู่ก่อนหลังวันตรุษจีนแต่ละปีไม่แน่นอน ในปี ค.ศ.1913 หยวนซื่อไข่กำหนดให้เลื่อนการฉลองปีใหม่จีน (春节) ไปกระทำกันในวันที่หนึ่งเดือนหนึ่งตามปฏิทินจันทรคติ (ตรุษจีนปัจจุบัน) แทน นับแต่นั้นมาชาวจีนจึงแยกวันตรุษจีนออกจากเทศกาลลี่ชุนและจัดงานในวันที่หนึ่งเดือนหนึ่งตามปฏิทินจันทรคติจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงยึดเอาวันลี่ชุนเป็นวันแห่งการเปลี่ยนปีนักษัตรเช่นเดิม



ภาพ: เทพแห่งการศึกษาถือพู่กันมาอวยพร
 

ในวันเปิดทำการแสดงวันแรกของปี ก็จะจัดพิธีการขึ้นอีกครั้ง เรียกว่า 开箱 "ไคเซียง" เป็นการปลดผนึกที่ปิดไว้เพื่อเริ่มทำการแสดงอีกครั้ง บนเวทีงิ้วก็จะมีการอัญเชิญเทพผู้อุปถัมภ์งิ้วออกมาตั้งไว้กลางเวที บนโต๊ะประกอบไปด้วยเครื่องสักการะต่างๆ เช่น ถั่วเป็นตัวแทนบทพระ ไข่เป็นตัวแทนบทนาง เกลือเป็นตัวแทนบทหน้าลาย เต้าหู้เป็นตัวแทนบทตลก รวมถึงป้ายจารึกนามเทพเจ้าต่างๆ ธงทั้งห้าที่เป็นตัวแทน ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง ธาตุทั้งห้าของจีน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่นักแสดงและผู้มาร่วมพิธี



ภาพ: ปฏิสัมพันธ์กับเจ้าภาพและผู้ชม
 

การแสดงในวันแรกของปีก็จะเป็นงิ้วมงคลต่างๆ เช่น 跳财神 "เที่ยวไฉเสิน" เป็นนักแสดงใส่หน้ากากเทพแห่งเงินทอง (ไฉ่ซิ้ง) ออกมาร่ายรำอวยพรให้ร่ำรวยมั่งมี 跳加官 "เที่ยวเจียกวาน" เป็นนักแสดงชาย (บางที่แสดงคู่ชายหญิง) แต่งชุดขุนนางออกมาคลี่ป้ายอวยพรผู้ชมให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน 跳魁星 "เที่ยวขุยซิง" นักแสดงแต่งตัวเป็นเทพขุยซิงหรือดาวแห่งการศึกษาออกมาอวยพร 天官赐福 "เทียนกวานชื่อฝู" เป็นบรรดาเทพต่างๆ จากสวรรค์ลงมาอวยพรต่างๆ สรุปว่าเป็นการอวยพรให้ปีใหม่ที่มาถึงสำเร็จสมหวังทุกประการ


ที่มา: http://ngiew.com/content-%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E5%BA%94%E8%8A%82%E6%88%8F-4-1181-115526-1.html







REDbags_logo

ติดต่อเรา

บริษัท มามิ แอนด์ ซิส จำกัด (สำนักงานใหญ่)

181/292 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงดอกไม้

เขตประเวศ  จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10250


Tel. +66 64 542 2754

FB : REDbags

Line : @redbags

IG : redbags

Email : redbagsgift@hotmail.com


Copyright ® 2019 REDbagsgift.com